Saturday, December 29, 2007

เมื่อผมถูกด่า...

เคยมีพราหมณ์คนหนึ่งด่าว่าพระพุทธเจ้าอย่างหยาบคาย​ ​รุนแรง​ ​พระพุทธเจ้ารับฟัง​ด้วย​อาการสงบ​ ​ไม่​โต้ตอบเลยแม้สักคำ​เดียว​ ​จนพราหมณ์ด่าว่าจบ​(​ไม่​รู้ว่า​เพราะ​หมดแรงซะก่อน​หรือ​เปล่า) ​พระพุทธเจ้า​จึง​กล่าวถามพราหมณ์ว่า​ "พราหมณ์​ ​ถ้า​มี​แขกมาบ้านท่าน​ ​ท่านก็ต้อนรับ​ด้วย​อาหารคาว​-​หวาน​ ​แต่​แขกที่มา​นั้น​ไม่​กินอาหารที่ท่านนำ​มาต้อนรับเลย​ ​แล้ว​กลับไป​ ​อาหาร​นั้น​จะ​เป็น​ของใคร" ​พราหมณ์ตอบว่า​ "ก็​เป็น​ของข้า​ผู้​เป็น​เจ้าของบ้านน่ะซิ​" ​พระพุทธเจ้า​จึง​บอกแก่พราหมณ์ว่า​ "ก็​เหมือน​กัน​พราหมณ์​ ​สิ่งที่ท่านต้อนรับเรา​ด้วย​คำ​ด่าว่า​ทั้ง​หลายนี้​ ​เรา​ไม่​ขอรับ" ​พราหมณ์​เกิดสำ​นึกผิด​ ​ที่กล่าวด่าว่าต่อ​ผู้​ที่มีคุณธรรมสูง​ ​ควรที่​จะ​ให้​ความ​เคารพนับถือ​ ​จึง​ก้มลงกราบพระพุทธเจ้าอย่างนอบน้อม​



คำ​ด่า​ ​ดีอย่างไร สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม และมีโยโสมนสิการ

1. ​ทดสอบตนเอง
พิจารณาดูว่า​ ​ขณะ​เราถูกด่า​ ​เกิดการกระทบ​ ​เรา​ยัง​มีอาสวะคือ​ ​ความ​โกรธ​ ​หรือ​ไม่
บางคนหลงคิดว่าเราไปถึงขั้นไหนๆแล้ว
นั่งสมาธินิ่งจิตสงบเหลือเกิน
นึกว่าตนเอง​ ​ไม่​มีราคะ​ ​โทสะ​ ​โมหะ
เจอคนด่าปัง​ ​เกิดโมโห​ขึ้นมาปั๊บ
แสดงว่า​ ยังต้องปรับปรุง

พิจารณารู้ตัวว่า​ตนมีอาการอย่างไร โมโหอย่างไร
เริ่มโมโหตรงไหน และตรงไหนที่ทำให้อารมณ์ตนเองคุคั่งไม่เลิก
หรือถ้าตั้งสตินึกได้เร็ว หรือเห็นแล้วว่าลดทอนเบากว่าเดิม
ก็ถือเสียว่าก้าวหน้าขึ้นบ้าง แต่ก็ต้องปรับปรุงต่อไป


2. ​พิจารณาตนเอง
ได้ถือโอกาสตรวจดูว่า​ ​เรามีพฤติกรรมอะ​ไรควรปรับปรุง
มีอาการอย่างไรจาก​การบริภาษ​ ​เหล่า​นั้น

บางอย่างในยามปกติเราไม่เคยมีอาการ
แต่พอมีอะไรสะกิดให้อารมณ์ฟุ้งขึ้นมาได้
เราก็ได้เห็นตัวเรา ธรรมชาติของตัวเรามากขึ้น
ยิ่งสังเกตมากยิ่งรู้จักตัวเองตามสภาพความเป็นจริง
ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในทางธรรม
ได้รู้ว่าละอะไรได้บ้าง ละอะไรไม่ได้บ้าง


3. ​รู้​ผู้​อื่น
พิจารณาที่​เขา​ บริภาษ​ ​เรา​อยู่​นั้น จะได้เห็นว่าเขา​มีภูมิจิตภูมิธรรมอย่างไร
ยิ่ง​พิจารณา​ให้​ดี​จะ​มีประ​โยชน์​ยิ่ง
บางครั้งถ้าตั้งจิตพิจารณาดีดีจะรู้สึกสงสารเขา
คนเราบางทีมีโอกาสไม่เท่ากัน ยิ่งเห็นภูมิจิตภูมิธรรมของคน
จะยิ่งรู้สึกว่าเราโชคดีนักที่ได้พิจารณาเห็นธรรมที่เขาไม่เห็น
ยิ่งสังเวชโลก ยิ่งตั้งใจปฏิบัติธรรม

4. ​มีพุทธพจน์ ทรงตรัสสอนไว้ว่า..

น​ ​เต​ ​อหํ​ ​อานนฺท​ ​ตถา​ ​ปรกฺกมิสฺสามิ
อานนท์​ ​เราจัก​ไม่​พยายามทำ​กะพวกเธอ​ ​อย่างทะนุถนอม
ยถา​ ​กุมฺภกา​โร​ ​อามเก​ ​อามกมตฺ​เต
เหมือนพวกช่างหม้อ​ ​ทำ​แก่หม้อ​ ​ที่​ยัง​เปียก​ ​ยัง​ดิบ​อยู่
นิคฺคยฺหนิคฺคยฺหาหํ​ ​อานนฺท​ ​วกขามิ
อานนท์​ ​เราจักขนาบ​แล้ว​ ​ขนาบอีก​ ​ไม่​มีหยุด
ปวยฺหปวยฺหาหํ​ ​อานนฺท​ ​วกฺขามิ
อานนท์​ ​เราจักชี้​โทษ​แล้ว​ ​ชี้​โทษอีก​ ​ไม่​มีหยุด
โย​ ​สา​โร​, ​โส​ ​ฐสฺสติ
ผู้​ใด​มีมรรคผลแก่นสาร​ ​ผู้​นั้น​จักทน​อยู่​ได้​ (ม​. ​อุ​. 14/356)


​นิธีนํว​ ​ปวตฺตารํ​ ​ยํ​ ​ปสฺ​เส​ ​วชฺชทสฺสินํ
นิคฺคยฺหวาทึ​ ​เมธาวึ​ ​ตาทิสํ​ ​ปณฺฑิตํ​ ​ภเช
คนเรา​ ​ควรมอง​ผู้​มีปัญญา​ใดๆ​ ​ที่คอยชี้​โทษ​ ​คอยกล่าว
คำ​ขนาบ​อยู่​เสมอไป​ ​ว่าคน​นั้น​แหละ​ ​คือ​ผู้​ชี้ขุมทรัพย์​,
ควรคบบัณฑิตที่​เป็น​เช่น​นั้น
ตาทิสํ​ ​ภชมานสฺส​ ​เสยฺ​โย​ ​โหติ​ ​น​ ​ปาปิ​โย
เมื่อคบหา​กับ​บัณฑิตชนิด​นั้น​อยู่​ ​ย่อมมี​แต่ดีท่า​เดียว​ ​ไม่​มี​เลวเลย​. (ขุ​. ​ธ​. 25/16 )

5. อย่าลืมน้อมตัวอย่างของพระพุทธเจ้า ที่นำมากล่าวข้างต้น

หลังจากนี้ เราจะฟังคำด่าด้วยโยนิโสมนสิการ และรู้สึกเหมือนเข้าสนามทดสอบรถฟอร์มูล่าวัน

เจริญในธรรมครับ

No comments: